กรุงเทพฯ / 9 มกราคม 2556 – สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ โชว์ความสำเร็จ เผยผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2555 ผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ไทยโตเกินเป้า เพิ่มยอดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ชาวต่างชาติเข้าประเทศกว่า 895,224 คน โดยนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากภูมิภาคเอเชียครอง สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 พร้อมเดินเกมปี 2556 ปรับแนวทาง “รีแบรนด์” องค์กร มุ่งสู่ความทันสมัย เน้นภาพลักษณ์และการบริการสู่ผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จ เตรียมลุยตลาดเอเชียและอาเซียน พลัส 6 เต็มกำลัง ตั้งเป้าปี 2556 อุตสาหกรรมไมซ์สร้างมูลค่ากว่า 63,200 ล้านบาท
นายธงชัย ศรีดามา กรรมการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเสบ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีความกังวลต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและ อเมริกา แต่อุตสาหกรรมไมซ์ของไทย กลับได้รับความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่และเติบโตสวนกระแส โดยจากผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2555 ของทีเส็บเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยเป็นอย่างดี โดยในปีนี้ ทีเส็บสามารถผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์เติบโตกว่าเป้าหมายจากเดิมที่ตั้งเป้านัก เดินทางกลุ่มไมซ์ไว้จำนวน 750,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 895,224 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวน 79,770 ล้านบาท”
มูลค่าของอุตสาหกรรมไมซ์มีสัดส่วนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็น จำนวนร้อยละ 9.49 และคิดเป็นสัดส่วนมูลค่าต่อ GDP ร้อยละ 0.58 อุตสาหกรรมการประชุมนานาชาติ (Conventions) ครองสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุดถึงร้อยละ 33 สำหรับอุตสาหกรรมการประชุมองค์กร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 25 และร้อยละ 24 ตามลำดับ และตามด้วยอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ร้อยละ 18
“ในรอบปีงบประมาณ 2555 มีจำนวนการจัดงานไมซ์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 7,382 งาน เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2554 คิดเป็นร้อยละ 6.84 แต่กลับมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เติบโตกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของทีเส็บในการดึงงานไมซ์ขนาดใหญ่ หรือ “เมกะอีเว้นต์” ให้เข้ามาจัดในประเทศไทย โดยมีอัตราเฉลี่ยการพำนักในประเทศไทยของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ชาวต่างชาติ เฉลี่ย 5.54 วัน และมีอัตราค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 16,084.13 บาทต่อคนต่อวัน” นายธงชัย กล่าวเสริม
ทั้งนี้ในรอบปีงบประมาณ 2555 นักเดินทางกลุ่มไมซ์จากภูมิภาคเอเชีย ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยเป็นอย่าง สูง โดยครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 ของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งหมด โดยสถิตินักเดินทางกลุ่มไมซ์จำแนกรายประเทศสูงสุด 10 อันดับแรกเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียทั้งหมด โดยมีประเทศอินเดีย จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และฮ่องกง ตามลำดับ
“สำหรับทิศทางการดำเนินงานของทีเส็บในปี 2556 จะยังคงมุ่งเน้นการรักษาตลาดเดิมและขยายตลาดเป้าหมายเป็นหลัก โดยจะเน้นการทำการตลาดไมซ์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และอาเซียน +6 เป็นหลัก ซึ่งยังคงเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ในปี 2556 ทีเส็บ ยังได้ยกเครื่องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของทีเส็บ (Rebrand) สู่แนวทางผู้พัฒนาธุรกิจการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าไทย หรือ Growth Driver โดยไม่เพียงแต่จะปรับเปลี่ยนรูปโฉมของอัตลักษณ์ (Logo) ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น หากแต่ปรับเปลี่ยนไปจนถึงกระบวนทัศน์ในการทำงาน ก้าวสู่บทบาทใหม่ที่จะมุ่งเน้นการเป็นหน่วยงานที่สร้างให้เกิดสิ่งใหม่ สนับสนุนให้เกิดการต่อยอด ผลักดันและพัฒนาให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดรายได้เข้าสู่ประเทศไทย” นายธงชัย กล่าวเสริม
กระบวนทัศน์การทำงานภายใต้แนวทาง Growth Driver ทีเส็บได้ปรับบทบาทการดำเนินงานในรูปโฉมใหม่ใน 5 มิติ ดังนี้
1) มิติแห่งการเป็นเพื่อนคู่คิดเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic Business Partner) – ทีเส็บจะต้องเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดอย่างมีกลยุทธ์ และการวางแผนทิศทางการเติบโตของธุรกิจไมซ์ให้กับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมใน การให้คำปรึกษา เพื่อให้ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมสามารถนำคำแนะนำหรือข้อมูลที่ให้มาก่อให้ เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างมั่นคง
2) มิติแห่งการเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์งาน (Thought Leader) – ทุกความคิดและการสร้างสรรค์ของทีเส็บจะต้องเป็นมุมมองที่มาจากการเป็นผู้นำ ทางความคิดของอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ ที่สามารถนำความคิดนั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ในการขยายฐานเศรษฐกิจของอุตสาห กรรมไมซ์
3) มิติแห่งการเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหา (Solution Provider) – ทุกการบริการที่ทีเส็บมีให้กับภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมจะต้องเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นสู่การสร้างความเจริญเติบโต สามารถช่วยแก้ไขปัญหา หรือนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
4) มิติแห่งการเป็นผู้เชื่อมต่อเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ (Business Connector) – โดยการเชื่อมต่อที่ทีเสบจะให้การสนับสนุนจะต้องเป็นการเชื่อมต่อเพื่อให้ เกิดการต่อยอดเพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดเครือข่ายพันธมิตร (Strategic Alliance) และสร้างความแข็งแรงและขยายฐานจากการเชื่อมต่อเพื่อเชื่อมไปสู่ความสำเร็จ ให้กับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม
5) มิติแห่งการเป็นผู้สร้างมาตรฐานเพื่อธุรกิจไมซ์ (Capabilities Developer) – ทีเส็บจะมุ่งเน้นการเร่งการเสริมศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐาน สร้างองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในอนาคต
สำหรับอัตลักษณ์ (Logo) โฉมใหม่ของทีเส็บ ได้ต่อยอดจากอัตลักษณ์เดิม แต่มุ่งเน้นการออกแบบบนพื้นฐานของโครงสร้างรูปทรงสามเหลี่ยมที่สื่อความหมาย ถึงการเจริญเติบโต และการมุ่งสร้างสรรค์สู่ความสำเร็จ พร้อมกับเปลี่ยนการใช้โทนสีคู่ใหม่ โดยสีเหลืองจะสื่อความหมายถึงพลังแห่งความเจริญเติบโต ความรุ่งเรือง และขุมพลังแห่งสติปัญญา ในขณะที่สีน้ำเงินจะสื่อความหมายถึงแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันหมด ความเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พร้อมกับสะท้อนถึงความทันสมัย
“ทั้งนี้ แบรนด์ของทีเส็บจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ และเราเชื่อมั่นว่าการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ตลอดจนปรับปรุงกระบวนทัศน์การทำงานในรูปโฉมใหม่ของทีเส็บในครั้งนี้ จะสามารถต่อยอดผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยสามารถแข่งขันได้มี ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สอดรับกับสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ทีเส็บจะเป็นผู้เสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้มีความ เชี่ยวชาญ จะเป็นผู้สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ต่อยอดสู่ความสำเร็จให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในเวทีโลก อันจะส่งผลสะท้อนเชิงบวกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ โดยทีเส็บคาดว่าจากการปรับโฉมภาพลักษณ์ในครั้งนี้จะสามารถผลักดันให้อุตสาห กรรมไมซ์ไทยโตต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 สำหรับเป้าหมายในปี 2556 ทีเส็บคาดว่าจะมีนักเดินทาง กลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 792,000 คน สร้างรายได้กว่า 63,200 ล้านบาท” นายธงชัย กล่าวทิ้งท้าย
# # #
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารการตลาด
นางสาวอริสรา ธนูแผลง
ผู้จัดการประชาสัมพันธ์อาวุโส
โทรศัพท์ : 02-694-6095
อีเมล : Arisara_t@tceb.or.th
นายสุเมธ กาญจนพันธุ์
ผู้จัดการประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ : 02-694-6096
อีเมล : Sumet_k@tceb.or.th