TCEB ระดมความเห็น 20 เอกชน เสนอแผนเร่งด่วนกระตุ้นไมซ์ไทย

กรุงเทพฯ 10 มิถุนายน 2557 - สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เร่งเครื่องระดมความคิดเห็นภาคเอกชน ร่วมผลักดันแผนกระตุ้นตลาดไมซ์ จัดงานระดับโลก ประชาสัมพันธ์เชิงรุก กระตุ้นไมซ์ในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ พร้อมเร่งรักษาตลาดหลัก เพิ่มตลาดใหม่ เสนอพลิกวิกฤตเป็นโอกาสคุมเข้มจัดระเบียบใหม่ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ และการท่องเที่ยวทั้งระบบ

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ทีเส็บดำเนินการจัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนอุตสาหกรรมไมซ์จาก 20 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย สมาคม ผู้จัดงาน สถานที่จัดงาน และผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมโรงแรมไทย และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ โดยผลที่ได้จะนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในการประชุมครั้งนี้ ทีเส็บได้นำเสนอโร้ดแมพเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะตามแนวทางคสช. ระยะแรก (กรกฏาคม-กันยายน พ.ศ. 2557) เสนอมาตรการกระตุ้นตลาดในระยะสั้น ผลักดันมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และทบทวนแผนดำเนินงานปี 2558 ระยะที่สอง (ตุลาคม พ.ศ. 2557-กันยายน พ.ศ. 2558) ตั้งคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ และจัดทำแผนแม่บทใหม่ขององค์กร (พ.ศ. 2560-2564) และระยะที่ 3 (ตุลาคม พ.ศ. 2558-กันยายน พ.ศ. 2559) ผลักดันแผนแม่บทของทีเส็บเข้าสู่นโยบายรัฐบาลและแผนบริหารราชการแผ่นดิน

สำหรับมาตรการระยะสั้น (กรกฎาคม-กันยายน 2557) ทีเส็บจะมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่น การกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ และการปรับแผนงานส่งเสริมตลาดต่างประเทศ สำหรับมาตรการระยะยาว (ตุลาคม 2557-กันยายน 2558) จะขยายกรอบการทำงานเพิ่มอีก 2 ด้าน คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และผลักดันมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

“เราได้ระดมความคิดเห็นกับผู้ประกอบการตามกรอบมาตรการใน 5 ด้าน โดย 1. มาตรการด้านการสร้างความเชื่อมั่น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องดำเนินการในขณะนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรจะต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อแสดงความพร้อมของประเทศไทย และตอกย้ำความสำเร็จของการจัดงานไมซ์ในประเทศไทย พร้อมกับให้ข้อมูลเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในระดับสากล รวมถึงการเดินหน้าจัดงานระดับโลก เพื่อสร้างความมั่นใจถึงศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยที่สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ได้ตามที่กำหนดไว้”

ในส่วนของมาตรการที่ 2. การส่งเสริมตลาดในประเทศ ทีเส็บจะสร้างเวทีส่งเสริมการตลาดร่วมกับหน่วยงานภาคี เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม หอการค้าไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การกระตุ้นตลาด Expat ผ่านหอการค้าต่างประเทศ และส่งเสริมการจัดประชุมตามโครงการลัดฟ้าประชุมเมืองไทย อิ่มใจ ตามรอยพระราชดำริ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและงานแสดงสินค้า เช่น งานไมซ์มาร์ท ในเมืองไมซ์ซิตี้และจะขยายไปยังเมืองที่มีศักยภาพตามแนวชายแดนประเทศ อาทิ เชียงราย หนองคาย และสระแก้ว พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้สนับสนุนมาตรการผลักดันการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลของกลุ่มข้าราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมกระจายงานและสร้างงานขนาดใหญ่ไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมทั้งผลักดันมาตรการทางด้านภาษี อาทิ การยกเว้นภาษี 200% ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

สำหรับมาตรการที่ 3. การตลาดในต่างประเทศ ทีเส็บ พร้อมปรับแผนส่งเสริมตลาดผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับไทยทีมและภาคเอกชน มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการขายในตลาดหลักระยะใกล้ ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย รวมถึงเจาะกลุ่มตลาดคุณภาพในยุโรป และตลาดใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ โปแลนด์ สาธารณเชค และสโลวัก โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการดึงงานและสนับสนุนการจัดงานไมซ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ประเทศไทย

ในส่วนของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะยาว มาตรการที่ 4. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และ 5. มาตรการผลักดันมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นั้น นายนพรัตน์กล่าวว่า “ทีเส็บและผู้ประกอบการภาคเอกชนเห็นพ้องในการเร่งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ในทุกภาคส่วน โดยเน้นพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ผู้ประกอบการ รวมถึงการเร่งผลักดันการจัดระเบียบด้านการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเดินทาง ขณะเดียวกันเสนอแนะมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าต่างประเทศ เช่น ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่า Landing Fee สำหรับสายการบินต่างประเทศ รวมถึง Charter Flight จากต่างประเทศ โดยจะดำเนินควบคู่ไปกับการผลักดันนโยบายการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ในประเด็นมาตรการลดหย่อนภาษีและการประกันการจัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย”

ด้าน นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) เสนอความคิดเห็นถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ว่า “การประกันงาน และการเดินทางให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์เป็นแนวคิดที่น่าจะได้รับการผลักดันและส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นโดยการสื่อสารประเด็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสถานการณ์ของประเทศไทยที่เป็นปกติและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไมซ์ นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์อย่างจริงจัง ครอบคลุมทั้งการป้องกันรักษาและควบคุมดูแลสถานที่ท่องเที่ยว การสร้างสรรค์และประชาสัมพันธ์สถานที่จัดงานและสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจไมซ์คุณภาพ ตลอดจนขจัดการทุจริต รวมถึงอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ และการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายของชาวต่างประเทศในประเทศไทย”

ทางด้านนายพรรธระพี ชินะโชติ นายกสมาคมสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า “เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การดูแลนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความมั่นใจในการเข้าร่วมงานในประเทศไทย โดยพยายามทำความเข้าใจและนำเสนอข้อมูลจริงให้เห็นถึงผลทางด้านธุรกิจ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีวิกฤติแต่การจัดงานแสดงสินค้ายังมีการเติบโต มีจำนวนผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้จัดงานที่จะนำงานแสดงสินค้าใหม่ๆเข้ามาจัดในประเทศไทยในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการจัดงานได้

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการด้านโรงแรมมองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสเหมาะในการจัดระเบียบธุรกิจไมซ์และการท่องเที่ยว รวมถึงควบคุมโรงแรมที่ผิดกฏหมายให้เข้าสู่ระบบ โดย นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของประเทศเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกันสื่อสารให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น ปัจจุบันสังคมกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง นอกจากนั้นยังเห็นว่าควรจะใช้โอกาสนี้ในการจัดระเบียบฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การจัดระเบียบแท็กซี่ในเมืองท่องเที่ยวและภายในสนามบิน การควบคุมโรงแรมที่ผิดกฏหมายโดยการปรับปรุงกฏระเบียบให้ครอบคลุมเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการด้วย เพื่อปกป้องประโยชน์ของผู้ใช้บริการ

# # #

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นางสาวอริสรา ธนูแผลง โทรศัพท์ 02-694-6095 อีเมล arisara_t@tceb.or.th

นายพิษณุ พลายแก้ว โทรศัพท์ 02-694-6000 อีเมล pishnu_p@tceb.or.th

นางสาวกนกวรรณ กะดีแดง โทรศัพท์ 02-694-6000 อีเมล kanokwan_k@tceb.or.th

แชร์บทความ