เปิดโรดแมปพัฒนาศักยภาพธุรกิจไมซ์ 2560 เพิ่มจำนวนบุคลากร ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม

17 กุมภาพันธ์ 2560 กรุงเทพมหานคร: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดแผนขับเคลื่อนศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจไมซ์ทั้งในประเทศและอาเซียน ชู 2 ยุทธศาสตร์ “สร้างคน พัฒนาแรงงานไมซ์” และ “ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ครบวงจร” ดันไทยศูนย์กลางการศึกษาไมซ์และเดสติเนชั่นของการสร้างมาตรฐานไมซ์แห่งภูมิภาค

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สสปน. เปิดเผยว่า “ในปี 2560 นี้ เป็นปีที่ทีเส็บให้ความสำคัญกับการเร่งขับเคลื่อนศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่สนับสนุนให้ไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทีเส็บจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพไมซ์ใน 2 ยุทธศาสตร์หลัก และมี 4 กลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยุทธศาสตร์แรก การพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ เน้นมิติการสร้างการศึกษา แก่กลุ่มเป้าหมาย สร้างทรัพยากรคน และบุคลากรไมซ์เพื่อรองรับอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมการดำเนินงานใน 2 กลยุทธ์ คือ Trade Education หรือการศึกษาไมซ์เพื่อภาคธุรกิจ และ ด้าน MICE Academy หรือการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษาและเยาวชน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ครบวงจร ที่ครอบคลุมกรอบการดำเนินงาน ใน 2 กลยุทธ์ คือ MICE Standards หรือ การดำเนินงานด้านมาตรฐานสากล และ ด้าน MICE Sustainability หรือการดำเนินงานด้านการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์หลักมีเป้าหมายดันไทยสู่ศูนย์กลางด้านการศึกษา และการสร้างมาตรฐานไมซ์ในระดับภูมิภาค

ด้าน นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ ให้รายละเอียดถึงการดำเนินงานใน 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย ด้านแรก Trade Education การศึกษาไมซ์เพื่อภาคธุรกิจ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมหลักสูตรด้านไมซ์นานาชาติให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ในสาขาทั้ง การประชุม การจัดแสดงสินค้านานาชาติ หรือ การจัดงาน อีเว้นท์ โดยมีหลักสูตรที่ทีเส็บสามารถดึงมาจัดในประเทศไทยที่สำคัญหลายสาขา อาทิ Certified in Exhibitions Management (CEM) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ และ Certified Meeting Professional (CMP) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการประชุมนานาชาติ ทั้งนี้การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมหลักสูตรระดับนานาชาตินี้ จะเป็นการตอกย้ำจุดยืนประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการศึกษาด้านไมซ์ของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub) อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่ตัดสินใจเข้ามาจัดการประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าในประเทศไทย ด้วยการมีบุคลากรไมซ์ไทยที่มีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพในระดับสากล นอกจากนี้การยกระดับบุคลากรให้ได้คุณภาพระดับสากล ฝ่ายฯ ได้ผลักดันการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน (MICE National Skill Standard) โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาช่างไฟฟ้าสำหรับกลุ่มไมซ์ (อุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้า) ถือเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานไมซ์แห่งแรกของโลกสำหรับรายบุคคล ซึ่งจะประกาศใช้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์

ด้านที่ 2 MICE Academy การดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษาและเยาวชน ปีนี้ทีเส็บดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่ภายใต้วิชาการจัดงานอีเว้นท์ หรือ Event 101 เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่เข้มข้นในวิชาการจัดงานอีเว้นท์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหลักสูตรเล่มแรกของประเทศไทย โดยหลักสูตรนี้จะใช้ประกอบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับ ทีเส็บ และจะถูกบรรจุไว้ในสถาบันอุดมศึกษากว่า 60 แห่ง และอาชีวศึกษา 47 แห่งทั่วประเทศไทยที่เป็นพันธมิตร หลักสูตรดังกล่าวได้พัฒนายกร่างในกรอบมาตรฐานการศึกษาไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดย มคอ.1 หรือ มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะสามารถต่อยอดให้สถาบันการศึกษาเปิดสาขาวิชาไมซ์และสาขาวิชาอีเว้นท์มากยิ่งขึ้นต่อไป พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผลักดัน 5 สถาบันอาชีวศึกษาให้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยตั้งเป้าสร้างบุคลากรไมซ์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพในระดับอุดมศึกษาจำนวน 4,000 คน และในระดับอาชีวศึกษา 1,000 คน

ด้านที่ 3 MICE Standards สำหรับแผนงานในประเทศ จะขยายการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ประเภทห้องประชุม (Meeting Room) ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง และเมืองที่มีศักยภาพของการจัดงานไมซ์ตามคลัสเตอร์ของรัฐบาล และเป็นปีที่เริ่มการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยประเภทสถานที่แสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition Venue) พร้อมดำเนินการจัดทำมาตรฐานประเภทสถานที่จัดงานพิเศษ (Special Event Venue)

ในด้านการขยายมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์สู่ระดับอาเซียนนั้น รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยโดยทีเส็บเป็นผู้นำของประเทศอาเซียน ในการจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ในอาเซียน หรือ ASEAN MICE VENUE STANDARD (AMVS) นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนด้านอุตสาหกรรมไมซ์ และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดอบรม 1st ASEAN MICE VENUE STANDARD AUDITOR Training ในระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2560 เพื่อให้ทุกประเทศในอาเซียนได้รับทราบวิธีการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน และในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ASEAN Tourism Forum (ATF 2018) ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเวทีนี้จะเป็นเวทีในการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ทั้ง 10 ประเทศอาเซียนที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ของอาเซียน นอกจากนี้ ทีเส็บยังจัดทำมาตรฐานใหม่ Food Waste Prevention เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ลดและจัดการขยะจากการให้บริการอาหารให้ลดน้อยลง ตอบสนองนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

ด้านที่ 4 MICE Sustainability มุ่งพัฒนาการอบรมหลักสูตร Sustainable Events Professional Certificate (SEPC) เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งทีเส็บตั้งเป้าเริ่มการจัดอบรมครั้งแรกขึ้นในประเทศไทยปี 2561 พร้อมต่อยอดโครงการ Farm to Functions ส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง และการจัดงานแบบไร้คาร์บอน (Carbon Neutral Events) โดยในปีนี้จะมีการจัดงานแบบไร้คาร์บอนจำนวน 5 งาน คาดว่าจะช่วยลดคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 100 ตัน

“จากแผนกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ไทย 2 ยุทธศาสตร์ 4 กลยุทธ์ จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ในระดับภูมิภาคตามเป้าหมาย โดยมีแผนการตั้ง “ASEAN MICE Institute” เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ กำหนด รับรองมาตรฐานต่างๆ รวมถึงออกแบบหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งระดับบุคคล และองค์กรให้มีศักยภาพที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป ซึ่งตอบโจทย์กลยุทธ์ของทีเส็บ และสามารถดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้จำนวน 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ 101,000 ล้านบาท” นายนพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

#####

ข้อมูลประกอบ

ภาพรวมความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพไมซ์ปี 2559

ด้าน Trade Education

  • สร้างบุคลากรไมซ์มืออาชีพที่ผ่านการอบรมหลักสูตร Certified in Exhibitions Management (CEM) จำนวน 57 ราย หลักสูตร Certified Meeting Professional (CMP) จำนวน 49 ราย และหลักสูตร International Certification Program จำนวน 586 ราย

ด้าน MICE Academy

  • โครงการสัมมนาหลักสูตรเชิงปฏิบัติการด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ (Coach the Coaches Program) เสริมสร้างศักยภาพให้แก่อาจารย์ผู้สอนวิชาไมซ์ โดยปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 691 รายจาก 349 องค์กร
  • โครงการเชื่อมโยงบัณฑิตสู่สายอาชีพไมซ์ (MICE Academy & Career Day) โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเข้าสมัครงานสู่ตลาดแรงงานในสายอาชีพไมซ์กว่า 300 ตำแหน่งงาน

ด้าน MICE Standards

  • โครงการมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ประเภทห้องประชุม (Meeting Room) มีสถานประกอบการณ์ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 142 แห่ง จำนวน 341 ห้อง ซึ่งครอบคลุมทั้งศูนย์การประชุม โรงแรม-รีสอร์ท และหน่วยงานที่มีห้องประชุม
  • หลังจากใช้เวลากว่า 2 ปี ในการพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์อาเซียน (AMVS) นั้น ในการประชุม ASEAN Tourism Forum หรือ ATF 2017 (45th Meeting of ASEAN The ASEAN NTOs and Related Meetings and 20th Meeting of The ASEAN Tourism Ministries and Related Meetings) ที่ประชุมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้มีมติให้ทุกประเทศนำมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ในอาเซียน (AMVS) ที่มีต้นแบบจากมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ของไทย (TMVS) ประกาศใช้ในประเทศของตนเอง นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนด้านอุตสาหกรรมไมซ์

ด้าน MICE Sustainability

  • โครงการ Farm to Functions ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง โดยมีผู้ประกอบการไมซ์สั่งซื้อข้าวเกษตรอินทรีย์รวมทั้งสิ้น 300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังได้สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกรถึง 300 ครอบครัวด้วย

#####

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส โทรศัพท์ 02-694-6095    อีเมล arisara_t@tceb.or.th

นางสาวฐิติวัลยา ไทยมงคลรัตน์    ผู้จัดการ    โทรศัพท์ 02-694-6103    อีเมล titiwanlaya_t@tceb.or.th

นางสาวขวัญชนก อดทน ผู้ปฏิบัติการ    โทรศัพท์ 02-694-6096    อีเมล kwanchanok_o@tceb.or.th

นางสาวปนิยดา มุลาลินน์    ผู้ปฏิบัติการ โทรศัพท์ 02-694-6091    อีเมล paniyada_m@tceb.or.th

แชร์บทความ