รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
เรื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุม และการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ
วันที่ 31 สิงหาคม 2564
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ได้รับการรักษาพยาบาลจนหายป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงได้ลงนามในข้อกำหนดฉบับที่ 32 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ปรับปรุงการบังคับใช้ในบางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564
พร้อมกันนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประกาศเตรียมการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเข้าออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เช่นกัน โดยมีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติการผ่อนปรนมาตรการ และเปิดบริการเที่ยวบินภายในประเทศ ตามรายละเอียดดังนี้
1. การกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์
ยังคงบังคับใช้พื้นที่สถานการณ์ตามเดิม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
2. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
ข้อห้ามการจัดกิจกรรม ขั้นตอนการขออนุญาต การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมรวมกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้จัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป โดยปรับมาตรการเฉพาะในเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มทำกิจกรรม ดังนี้
1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 25 คน
2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน
3) พื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 100 คน
4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 200 คน
5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 500 คน
3. มาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้ในอนาคต
เพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตาม “มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล” (Universal Prevention for COVID-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สำหรับการบังคับใช้ในอนาคตผู้ประกอบการ องค์กร หรือหน่วยงาน ให้ปฏิบัติตาม “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร” (Covid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้ในอนาคตในการเปิดสถานที่ การดำเนินกิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ โดยให้มีการประเมินผลภายในหนึ่งเดือน
4. ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ยังคงบังคับใช้มาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศก่อนหน้า ได้แก่ การห้ามออกนอกที่พักระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน รวมถึงมาตรการ หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่กำหนดขึ้น โดยที่ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดนี้ยังคงบังคับใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564
5. การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดูแล ติดตามการดำเนินงานของสถานที่ กิจการ กิจกรรม ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ดังนี้
1) โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถจัดการเรียนการสอน การสอบ ฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค และความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
2) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถบริโภคในร้านได้ไม่เกิน 20.00 น. ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอลโดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ หากเป็นในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนไม่เกิน 50% ของที่นั่งปกติ หากเป็นพื้นที่เปิด เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนไม่เกิน 75% ของที่นั่งปกติ ให้บังคับใช้มาตรการนี้กับร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
3) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม เปิดให้บริการได้
4) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย ให้บริการได้เฉพาะนวดเท้า
5) ตลาดนัดเปิดให้บริการได้เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค จนถึง 20.00 น.
6) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดำเนินการได้จนถึง 20.00 น. ยกเว้นกิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน
ก. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม เปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายส่วนร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาให้บริการในร้านไม่เกินรายละ 1 ชั่วโมง
ข. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพหรือนวดแผนไทยเปิดดำเนินการผ่านการนัดหมายและให้บริการเฉพาะนวดเท้า
ค. สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม ยังคงไม่เปิดดำเนินการ
7) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ หรือสระว่ายน้ำ สาธารณะ สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. สามารถจัดแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การใช้สถานที่เป็นการเฉพาะเพื่อความเหมาะสมได้
8) ให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อเข้าใช้สนามกีฬาในการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติได้โดยไม่มีผู้ชม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
6. การใช้เส้นทางคมนาคม เพื่อเดินทางข้ามจังหวัดจากเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
การเดินทางข้ามเขตจังหวัดและการเดินทางออกนอกพื้นที่สามารถกระทำได้ แต่ขอให้เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเท่านั้น หากเป็นการเดินทางของผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ ให้เดินทางผ่านมาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเท่านั้น โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีอำนาจในการตรวจและคัดกรองเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
7. การขนส่งสาธารณะ
ให้กระทรวงคมนาคม จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วประเทศให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก. ศบค. กำหนดโดยจำกัด จำนวนผู้โดยสารให้ไม่เกิน 75% ของความจุผู้โดยสาร รวมทั้งให้มีการเว้นระยะห่าง มีระบบระบายอากาศ แวะพักตามช่วงเวลา และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของยานพาหนะและสภาพการเดินทาง รวมถึงให้จัดการบริการที่เพียงพอเหมาะสมในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเพื่อรับวัคซีนและบริการทางการแพทย์
8. การประเมินสถานการณ์
ในกรณีที่ ศปก. ศบค. ได้ประเมินสถานการณ์ตามข้อกำหนดนี้แล้ว เห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องใดเพื่อความเหมาะสม สามารถเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการได้
มาตรการเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Flight) ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม)
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ประสานกับหน่วยงานด้านการบินที่เกี่ยวข้อง เตรียมมาตรการรองรับเพื่อเปิดเที่ยวบินโดยสารในประเทศ โดยสายการบินจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของมาตรการการเข้าออกจังหวัดพื้นที่ปลายทาง เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อการเดินทาง (รายละเอียดตามมาตรการของแต่ละจังหวัด) สรุปได้ดังนี้
1. เอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือ
2. เอกสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK) หรือ
3. เอกสารที่แสดงถึงการได้รับการยกเว้น ตามที่จังหวัดปลายทางกำหนด เช่น ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วไม่เกิน 90 วัน ผู้ผ่านการกักตัวแล้ว หรือผู้โดยสารตามโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) เป็นต้น
สำหรับเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีน ให้แสดงผลการฉีดวัคซีนที่ได้รับจากโรงพยาบาล หรือใช้หลักฐานจากแอปพลิเคชันหมอพร้อมเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อสามารถค้นหาสถานที่ตรวจได้จากเว็บไซต์ https://service.dmsc.moph.go.th/labscovid19 ซึ่งจะมีรายชื่อห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง และสามารถออกเอกสารที่สายการบินยอมรับ (ปัจจุบันสมาคมสายการบินกำลังดำเนินการร่วมกับแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อให้หลักฐานทั้งหมดแสดงบนแอปพลิเคชัน หากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะสามารถนำมาใช้ประกอบการเดินทางได้)
โดยมีมาตรการและข้อปฏิบัติสำหรับสายการบิน และสนามบิน ดังนี้
1. ให้สายการบินจำกัดการบินในช่วงเวลา 21.00 น. จนถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
2. ให้มีผู้โดยสารได้ไม่เกิน 75% ของความจุในเที่ยวบินนั้น ๆ
3. สายการบินจะจัดที่นั่งในเครื่องบินโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่าง หากผู้โดยสารเดินทางมาด้วยกันสายการบินสามารถลดการเว้นระยะห่างได้แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
4. สายการบินต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบถึงมาตรการเข้า/ออก ของจังหวัดปลายทาง รวมถึงแจ้งความจำเป็นในการเดินทางผ่านเว็บไซต์ https://covid-19.in.th ก่อนการเดินทาง
5. สายการบินตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากเอกสารไม่ครบไม่ถูกต้อง ผู้โดยสารอาจถูกปฏิเสธการเดินทางได้ สามารถตรวจสอบมาตรการของแต่ละจังหวัดได้ที่ http://www.moicovid.com
6. ในระหว่างอยู่บนเครื่องบิน ห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ยกเว้นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สามารถพิจารณาจัดน้ำดื่มให้ได้ โดยให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากผู้โดยสารท่านอื่นมากที่สุด
7. สนามบินจัดระบบการไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger Flow) และ การรับกระเป๋า รวมถึงอำนวยความสะดวกต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้ทำงานได้ตามมาตรการของจังหวัดปลายทาง
8. ให้สายการบิน และสนามบิน จัดให้บุคลากรด่านหน้าที่ให้บริการผู้โดยสารได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจหาเชื้อโควิด 19 ทุกสัปดาห์
9. ให้สนามบินคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในสนามบินอย่างเข้มงวด ต้องมีการตรวจสอบการสวมหน้ากาก การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่สัมผัสตัวผู้ถูกวัด) หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากาก หรือวัดอุณหภูมิได้มากกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้ปฏิเสธการเข้าสนามบินโดยเด็ดขาด
10. ให้สนามบินดำเนินการตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อาทิ การรักษาระยะห่าง จัดแอลกอฮอล์ล้างมือบริการอย่างเพียงพอ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคพื้นที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ และให้ผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการ หากไม่ปฏิบัติตามสามารถให้ผู้ใช้บริการออกนอกสนามบินได้
11. กำหนดให้รถรับผู้โดยสารไป-กลับระหว่างอาคารผู้โดยสารและอากาศยาน (Shuttle Bus) สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 50 คนต่อคัน ให้ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสก่อนและหลังให้บริการ
12. ให้สายการบินเก็บข้อมูลผู้โดยสารไว้อย่างน้อย 30 วัน และนำส่งข้อมูลเมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานสาธารณสุข
13. สนามบินต้องติดตาม ดูแล ผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. โดยเคร่งครัด
14. กรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบิน และการรวมเที่ยวบิน ให้แจ้งผู้โดยสารอย่างเหมาะสมตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการ
คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553
15. ให้สายการบินและสนามบินแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยัน หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
16. ให้สายการบินและสนามบินเพิ่มความเข้มงวดในการติดตาม ดูแล ผู้มาใช้บริการให้ปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) พ.ศ. 2564 ประกาศ วันที่ 9 เมษายน 2564
17. ให้สายการบินและสนามบิน เตรียมเอกสารรับรองความจำเป็นให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะในสังกัดของตนที่ได้รับยกเว้น เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่หากมีการตรวจสอบ
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดหรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม
สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด
อ้างอิง
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/200/T_0001.PDF
https://www.caat.or.th/th/archives/60273
https://www.caat.or.th/th/archives/60282
###
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก
https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports
ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000
https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th